เปิดอัตราใหม่ ‘ปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ’ ใครได้บ้าง เริ่มเมื่อไหร่

ตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 66 ที่ผ่านมา ได้มีมติตามที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เสนอ เรื่องสำคัญเป็นการเห็นชอบในหลักการการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ และการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ การปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว คาดว่าจะเริ่มต้นได้เดือน พ.ค.67

การปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุของข้าราชการ ไม่ได้ปรับเงินเดือนให้แก่ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคน และไม่ครอบคลุมถึงพนักงานส่วนท้องถิ่น เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ และอัตราค่าจ้างในภาคเอกชน ปัจจุบันอัตราแรกจ้างนักศึกษาจบใหม่เฉลี่ยอยู่ที่ 18,910 บาท

สำหรับอัตราการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการบรรจุใหม่ (ตามคุณวุฒิ) รายละเอียดดังนี้

  • ปวช.
    ปัจจุบัน : 9,400 – 10,340 บาท
    ปีที่ 1 : 10,340 – 11,380 บาท
    ปีที่ 2 : 11,380 – 12,520 บาท
  • ปริญญาโท
    ปัจจุบัน : 17,500 – 19,250 บาท
    ปีที่ 1 : 19,250 – 21,180 บาท
    ปีที่ 2 : 21,180 – 23,300 บาท
  • ปริญญาเอก
    ปัจจุบัน : 21,000 – 23,100 บาท
    ปีที่ 1 : 23,100 – 25,410 บาท
    ปีที่ 2 : 25,410 – 27,960 บาท

การปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ จำนวน 2 ครั้ง ให้มีผลใช้บังคับพร้อมกับการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุในปีที่ 1 และปีที่ 2 โดยปรับเงินเดือนชดเชยในแต่ละปี ให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายผู้เข้ารับราชการก่อนวันที่อัตราแรกบรรจุที่กำหนดใหม่มีผลใช้บังคับอย่างน้อย 10 ปี

ข้าราชการกลุ่มใดบ้างที่จะได้รับการปรับขึ้นเงินเดือน

  • ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ : ข้าราชการพลเรือนสามัญ ข้าราชการทหารข้าราชการตำรวจ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ข้าราชการรัฐสภาสามัญ พนักงานราชการ ข้าราชการในหน่วยธุรการของศาล (สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลปกครอง และสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ) ข้าราชการในสำนักงานขององค์กรอิสระและองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ (สตง. สนง.ป.ป.ช. สนง.กสม. และข้าราชการธุรการอัยการ)

กาปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการมีผลเมื่อไหร่

  • ปีที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 67
  • ปีที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 68

งบประมาณที่ใช้ในการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการครั้งนี้

  • งบประมาณปีที่ 1 (12 เดือน) จำนวน 7,200 ล้านบาท
  • งบประมาณปีที่ 2 (12 เดือน) จำนวน 8,800 ล้านบาท

ในส่วนเรื่องการปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว เพื่อให้การดำเนินการสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุกระทรวงการคลัง (กรมบัญชีกลาง) เห็นควรพิจารณาดังนี้

  • ปรับเพดานเงินเดือนขั้นสูงที่มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว จากเดิม เงินเดือนไม่ถึงเดือนละ 13,285 บาท เป็น เงินเดือนไม่ถึงเดือนละ 14,600 บาท
  • ปรับเพดานขั้นต่ำของเงินเดือนรวมกับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว จากเดิม เดือนละ 10,000 บาท เป็น เดือนละ 11,000 บาท
  • ปรับเงินเพิ่มการครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญขั้นต่ำ จากเดิม 10,000 บาท เป็น 11,000 บาท

ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ทหารกองประจำการ และผู้รับบำนาญ และคาดว่าจะใช้งบประมาณ เพิ่มขึ้นไม่เกิน 3,000 ล้านบาทต่อปี โดยให้ส่วนราชการใช้จ่ายจากงบประมาณของแต่ละส่วนราชการเป็นลำดับแรก หากไม่เพียงพอให้ขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ เพื่อขอใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบกลาง ต่อไป

(ที่มา : สำนักงาน ก.พ., เพจไทยคู่ฟ้า , มติ ครม. ณ 28 พ.ย.)